วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

บ้านดอนพยอม 

ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด


          บ้านดอนพยอม หมู่ที่ 12 ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนา ชาวบ้านบ้านดอนพยอมมีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับวัฒนธรรมแบบชาวอีสานและการทำเกษตรกรรม มีอาชีพหลัก คือ การทำนา นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพเสริม เช่น ปลูกฟักทอง ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างทั่วไป

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน


บ้านดอนพยอม ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ในอดีตเคยรวมอยู่กับบ้านหนองโสน ตำบลหนองไผ่ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาจึงได้แยกตัวออกมาและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านดอนพยอม


การเดินทาง


การเดินทางจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ด ออกไปทางอำเภออาจสามารถ ประมาณกิโลเมตรที่ 11 จะเห็นป้ายบ้านดอนพยอม เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ  1 กิโลเมตร





การประกอบอาชีพ

1. ทำนา


        ชาวบ้านบ้านดอนพยอมมีอาชัพหลัก คือ การทำนา เป็นการทำนาแบบนาปีหรือการทำนาปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากสภาพของพื้นที่ไม่เหมาะที่จะทำนาปลัง ชาวบ้านจึงนิยมทำนาปีมากกว่าการทำนาปลัง ในอดีตจะใช้วิธีการดำนา แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้การทำนาแบบหว่านเมล็ดข้าว ในอดีตต้นทุนการทำนาของชาวบ้านจะต่ำ เพราะใช้ควายในการไถนา ไม่ใช้สารเคมี ใช้แรงงานของคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องและคนในหมู่บ้าน ก่อเกิดประเพณีที่ดีงาม คือ ประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว แต่ในปัจจุบันชาวบ้านมีต้นทุนในการทำนาค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ รถไถนาและรถเกี่ยวนวดข้าว มีการใช้สารเคมีมากขึ้น มีการจ้างแรงงานมาแทนแรงงานของคนในครอบครัว ประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าวก็เริ่มเลือนลางจางหายไป
ต้นทุน
                    1.ค่ารถไถนา 300 บาท/ไร่
                    2.ค่ารถเกี่ยวนวดข้าว 600 บาท/ไร่
                    3.ค่าปุ๋ยเคมี
                    4.ค่าแรงงานวันละ 300 บาท
                    กำไร
ขึ้นอยู่กับราคาข้าวในตลาด และหักจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนแล้ว กำไรที่ได้คิดเป็นเป็นครึ่งต่อครึ่งของการลงทุนในแต่ละครั้ง

ที่มาของภาพ : http://www.songkhlahealth.org/paper/1247

2.การปลูกฟักทอง

ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกฟักทองหลังจากที่หมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านยึดเป็นอาชีพรองลงมาจากการทำนา โดยจะเริ่มทำในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน โดยจะปลูกในบริเวณพื้นที่นาและเนินดิน การปลูกฟักทองจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องคอยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ อุปกรณ์และเครื่องมือในการทำการเกษตร ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง เช่น เครื่องสูบน้ำ สายยาง ท่อพีวีซี นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ เมล็ดพันธุ์ฟักทอง และน้ำ พันธุ์ฟักทองที่ชาวบ้านนิยมปลูกคือ พันธุ์ 05 ทองอำไพ ทองอำพันธ์ ศิลาเพชร ศิลาทอง ราคาต่อกล่องประมาณกล่องละ 500 - 700 บาท ส่วนน้ำมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะฟักทองเป็นพืชที่ชอบน้ำ ขาดน้ำไม่ได้ ต้องอาศัยน้ำในการเจริญเติบโตและออกผล  ปัญหาที่พบบ่อยคือ น้ำที่จะนำมาใช้รดต้นฟักทอง ไม่เพียงพอ ถึงแม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะขุดสระน้ำหรือบ่อน้ำไว้ในที่นาของตนเอง แต่บางครั้งก็ไม่เพียงพอ ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาโดยการขุดสระน้ำหรือบ่อน้ำเพิ่ม บางคนก็ซื้อน้ำจากสระน้ำหรือบ่อน้ำของคนอื่น เมื่อถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต จะมีพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นญาติพี่น้องและคนในหมู่บ้านมารับซื้อฟักทอง ราคาขึ้นอยู่กับราคาของตลาด ชาวบ้านบางคนก็จะนำฟักทองไปขายเองที่ตลาด ส่วนที่เหลือจากการขายก็จะเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน

ถึงแม้การปลูกฟักทองจะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่กำไรที่ได้ก็คุ้มค่ากับการลงทุน ชาวบ้านที่นี่จึงนิยมปลูกฟักทอง เพราะช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวมากกว่าการทำนา เมื่อหักต้นทุนออกแล้ว กำไรที่ได้โดยรวมจะมากกว่าต้นทุนในการปลูกแต่ละครั้ง




3.การปลูกผัก  

   

            ชาวบ้านจะนิยมปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคภายในครัวเรือนและนำไปขาย โดยขายให้กับพ่อค้าคนกลางและนำไปขายเองที่ตลาด พืชผักสวนครัวที่ปลูก เช่น ต้นหอม หอมแดง กระเทียม กระเพรา ผักชี แตงกวา มะละกอ พริก มะเขือเทศ เป็นต้น ในฤดูกาลทำนาชาวบ้านจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ข้างบ้าน เนินดิน หรือตามบริเวณขอบสระน้ำที่ทำเป็นเนินดิน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านก็จะไถกลบตอฟาง แล้วก็นำพืชผักสวนครัวไปปลูกในบริเวณที่นาหรือเนินดิน ส่วนใหญ่แรงงานที่ใช้จะเป็นคนในครอบครัว มีเพียงบางคนเท่านั้นที่จ้างคนอื่นมาช่วยทำ เช่น จ้างคนในหมู่บ้านมาเก็บพริก โดยจะให้ค่าจ้างกิโลกรัมละ 10 บาท ต้นทุนที่ใช้ไม่ค่อยสูงมากนัก เนื่องจากชาวบ้านไม่นิยมใช้สารเคมี เพราะเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ





4.การเลี้ยงสัตว์

ชาวบ้านบ้านดอนพยอมจะเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งสัตว์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่ หมู เป็ด ไก่ วัว ควาย โดยเฉพาะวัว เป็นสัตว์ที่เลี้ยงเกือบทุกครัวเรือน ต้นทุนในการเลี้ยงจะต่ำ เพราะเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยปล่อยให้กินอาหารแบบธรรมชาติ เช่น หญ้า ฟางข้าว บางครั้งก็จะให้รำข้าวเป็นอาหาร 



5.รับจ้างทั่วไป


          การรับจ้างทั่วไปของชาวบ้านบ้านดอนพยอม แบ่งออกได้ 2 ประเด็น คือ การรับจ้างทำงานในเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง และการรับจ้างทำงานในท้องถิ่น ดังนี้

          1. การรับจ้างทำงานในเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน มีบางส่วนที่ยังคงทำงานและรับจ้างอยู่ตามท้องถิ่น หลายคนเดินทางเข้าเมืองใหญ่เพื่อนไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เช่น พนักงานโรงงาน พนักงานตามห้างสรรพสินค้า พนักงานรักษาความปลอดภัย ค้าขาย ทำธุรกิจ เป็นต้น ทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเริ่มห่างเหินกันมากขึ้น บางคนแต่งงานมีลูกก็ส่งลูกมาให้ตายายที่อยู่บ้านเลี้ยง เพราะตนเองต้องทำงาน ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้หลายคนต้องเดินทางไปทำงานในเมืองใหญ่ ก็เพราะไม่ยากทำนา เห็นคนในหมู่บ้านที่ไปทำงานในเมืองใหญ่มีฐานะดีขึ้น ก็อยากมีชีวิตที่ดีกับเขาบ้าง จึงตัดสินใจเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง หลายคนต้องหันกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดของตนเองตามเดิม เพราะทนกับสภาพชีวิตในเมืองใหญ่ไม่ไหว


          2. การรับจ้างทำงานในท้องถิ่น เป็นการรับจ้างญาติพี่น้องและคนในหมู่บ้าน เช่น การรับจ้างเก็บพริก รับจ้างไถนา รับจ้างดำนา รับจ้างขุดหลุมฟักทอง รับจ้างเก็บฟักทอง รับจ้างขนฟักทองในตลาด เป็นต้น โดยเฉพาะการรับจ้างขนฟักทองในตลาด ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าเป็นคนในหมู่บ้าน จึงมาจ้างคนในหมู่บ้านไปเป็นแรงงานช่วยขน เป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับคนในหมู่บ้านอีกทางหนึ่ง

ระบบตลาดภายในหมู่บ้าน


การส่งออกข้าวทั้งภายในและภายนอกชุมชน

ข้าวที่ชาวบ้านผลิตได้ส่วนใหญ่จะนำไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวหรือโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาล บางส่วนจะนำไปขายให้กับโรงสีใหญ่ในตัวจังหวัด ที่เหลือก็จะเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน นำไปฝากญาติพี่น้องและขายในยามที่จำเป็น ในบางปีประสบกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านบางคนประสบกับภาวะขาดทุน บางปีราคาข้าวสูงก็ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดี มีเงินมาลงทุนในการประกอบอาชีพต่อไป

ตลาดส่งออกฟักทอง

ผลผลิตที่ได้จากฟักทองจะขายให้กับพ่อค้าคนกลางและนำไปขายเอง พ่อค้าคนกลางได้แก่ พ่อค้าคนกลางต่างถิ่น และพ่อค้าคนกลางที่เป็นคนในชุมชนเอง เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อขอซื้อหลายคน ชาวบ้านจึงมีสิทธิที่จะเลือกขายให้กับใครก็ได้หรือจะนำไปขายเองก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เป็นคนในหมู่บ้าน เพราะสามารถต่อรองราคาได้และเป็นคนที่คุ้นเคยกัน และที่สำคัญ คือ ในช่วงที่ราคาฟักทองตกต่ำ ไม่มีพ่อค้าคนไหนอยากซื้อ แต่พ่อค้าคนกลางที่เป็นคนในหมู่บ้านจะรับซื้อไว้ เพราะเห็นว่าเป็นญาติพี่น้องเป็นคนบ้านเดียวกัน ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลายเป็นความเห็นอกเห็นใจกัน ชาวบ้านที่นี่ปลูกฟักทองมานานและมีความเชี่ยวชาญในการทำสวนฟักทอง จนเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่น ฟักทองของที่นี่จะมีลักษณะที่สวย เนื้อแน่น มันและหวานเล็กน้อย จึงเป็นที่นิยมของลูกค้า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ถือได้ว่าฟักทองทำรายได้ได้มากกว่าการทำนา โดยมีตลาดส่งออกฟักทองในท้องถิ่นที่สำคัญอยู่ในตัวจังหวัดและส่งออกไปยังต่างจังหวัด